จากหนังสือ "รวมเรื่องเมืองชล" ตาม หลักฐานทางวรรณคดี จะปรากฏว่าเจ้าแม่ "สามมุก" เป็นเจ้าแม่ที่มีอภินิหารศักดิ์สิทธิ์ จากนิราศเมืองแกลง ของสุนทรภู่รัตนกวี ได้พรรณาถึงการเดินทาง ไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ในระหว่างไปทางเรือ ด้วยกัน ๔ คนคือ สุทรภู่ กับศิษย์เอกสองคนชื่อ นายน้อย กับ นายพุ่ม มีชาวระยองชื่อ นายแสง เป็นผู้นำทาง ระหว่างนั้นสุนทรภู่มีอายุ ๒๑ ปี เดินทางไปเมืองแกลง พ.ศ. ๒๓๕๐ เมื่อเรือผ่านบางปะกง จะเข้าบางปลาสร้อยก็พบมรสุม สุนทรภู่ได้รจนาไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า
....เห็นเมฆมัวลมแดงดังแสงเสน
สักประเดี๋ยวเหลียวดูลำพูเอน ยอดระเนนนาบน้ำอยู่รำไร
ป่าแสมแลเห็นอยู่ริ้วริ้ว ให้หวิววาบวับฤทัยไหว
จะหลบหลีกเข้าฝั่งก็ยังไกล คลื่นก็ใหญ่โยนเรือเหลือกำลัง
สงสานแสงแข็งข้อจนขาสั่น เห็นเรือหันโกรธบ่นเอาคนหลัง
น้ำจะพัดปัดตีไปสีชัง แล้วคลุ้มคลั่งเงี่ยนยาทำตาแดง
ปลอบเจ้าพุ่มพึมพำว่ากรรมแล้ว อุตส่าห์แจวเข้าเถิดพ่อให้ข้อแข็ง
สงสารน้อยหน้าจ๋อยนั่งจัดแจง คิดจะแต่งตัวตายไม่พายเรือ
พี่แข็งขืนฝืนภาวนานิ่ง แลตลิ่งไรไรยังไกลเหลือ
เห็นเกินรอยบางปลาสร้อยอยู่ท้ายเรือ คลื่นก็เฝือฟูมฟองคะนองพราย
เห็นจวนจนบนเจ้าเขาสำมุก จงช่วยทุกข์ถึงที่จะทำถวาย
พอขาดคำน้ำขึ้นทั้งคลื่นคลาย ทั้งสายนายหน้าชื่นค่อยเฉื่อยมา..
น่าอัศจรรย์พอสุนทรภู่บนบานเจ้าแม่สามมุก คลื่นลมก็เบาบางลงเรือของสุนทรภู่ก็ถึงบางปลาสร้อยได้ดังใจหวัง สุนทรภู่ได้นิพนธ์ต่อไปว่า
หยุดสะพานย่านกลางบางปลาสร้อย พุ่มกับน้อยสรวลสันต์ต่างหรรษา
นายแสงหายคลายโทโสที่โกธา ชักกัญชานั่งกริ่มยิ้มละมัย
ตลอดนิราศเมืองแกลง อมตนิพนธ์ของสุนทรภู่ รัตนกวีศรีเมืองไทยไม่ได้บรรยายไว้ว่า เมื่อเรือจอดบางปลาสร้อยเรียบร้อยแล้ว สุนทรภู่ได้แก้บนเจ้าแม่สามุกหรือเปล่า เพราะสุนทรภู่เดินเท้าไปทางหนองมน บางพระ ทุ่งสุขลา ต่อไปจนถึงระยอง หรือสุนทรภู่ อาจจะนิพนธ์บนบานเจ้าแม่ "สามมุก" ไปตามอารมณ์กวีของตน ที่มีความเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่สามุก ชีวิตสุนทรภู่จึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ ด้วยแรง "เจ้าแม่" มาตลอด
ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือ รวมเรื่อง "เมืองชล" /อธึก สวัสดีมงคล, ธีรชัย ทองธรรมชาติ.
เลขเรียกหนังสือ 959.3 อ151ร
ชลบุรีอ่านได้ที่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น